วันนี้มารีวิวกล้องที่ไม่ค่้อยมีคนรู้จักกันอีกสักตัวครับ กับ Chinon CS โดยคำว่า CS นั้นมาจาก Chinon Screw ด้วยกล้องรุ่นนี้ใช้เม้าท์แบบเกลียว M42 เช่นเดียวกับ Pentax และ Praktica สำหรับกล้อง Chinon CS ผมว่าเป็นกล้องที่การออกแบบที่มีเอกลักษณ์ของตัวเอง ทั้งระบบ และรูปร่าง
Chinon CS เริ่มผลิตในปี 1976 (ช่วงเดียวกับ Nikon FT2 และ Pentax K1000) เป็นกล้อง SLR เปลี่ยนเลนส์ได้ ใช้เม้าท์ M42 แบบ Auto Aperture มีระบบวัดแสงแบบ TTL (Through-The-Lens) มีเข็มวัดแสงแสดงในช่องมองภาพ ใช้ชัตเตอร์แบบกลไกทำด้วยโลหะแบบ Focal Plane สามารถใช้แฟลช Hot-shoe ได้
สำหรับสเปคนะครับ
Chinon CS
Made in Japan (1976)
Camera type : SLR , interchangeable lens
Film Type : 135 (35mm)
Lens Mount : M42 (pentax, praktica)
Shutter : 1/1 – 1/1000, B, self-timer
Exposure : TTL , Needle in Viewfinder
Exposure Mode : Manual
ISO : ASA 10-1600
Battery : PX625
Flash : Hotshoe and PC Sync
ตัวกล้องภายนอกทั่วๆ ไป นั้นวัสดุเกือบทั้งหมดทำจากโลหะ มีความแข็งแรงดีทีเดียว ซึ่งก็ส่งผลให้กล้องมีน้ำหนักพอดู ลายหนังทำออกมาสวยลงตัวดี แถมมีหนังแปะอยู่บริเวณกระโหลกด้วย ทำให้ดูหรูหราขึ้นเยอะ
เริ่มจากด้านหน้าของกล้องครับ ทางด้านขวา จะมีอยู่ 2 ส่วนที่จะกล่าวถึง คือ ส่วนของปุ่มวัดแสง และปุ่มตั้งเวลาถ่ายภาพ
ส่วนของปุ่มวัดแสง ของ Chinon CS ทำไว้ในลักษณะเลื่อนขึ้น-ลง โดยเมื่อกดปุ่มลง กล้องจะทำการวัดแสง โดยหรี่รูรับแสงด้วย ปุ่มนี้เมื่อกดลงก็จะค้างไว้ตลอด จนกว่าเราจะดันขึ้นเหมือนเดิม หรือเมื่อเรากดชัตเตอร์ถ่ายภาพ ปุ่มนี้จะเด้งกลับขึ้นไปอัตโนมัติ ซึ่งตรงนี้ค่อนข้างออกแบบได้ดีทีเดียว ทำให้เราไม่ลืมปิดปุ่มวัดแสง (ไม่เปลืองแบตฯดี)
อีกส่วนคือ ปุ่มตั้งเวลาถ่ายภาพ การใช้งานก็เหมือนกับกล้องฟิล์มทั่วไป คือ หมุนเลื่อนลงมาให้สุด เพื่อขึ้นลาน แต่จะแตกต่างจากกล้องหลายๆ รุ่น ที่มีปุ่มเริ่มทำงานแยกจากชัตเตอร์ แต่ Chinon CS นั้นเรากดที่ชัตเตอร์ได้เลย เพื่อเริ่มการทำงาน
ส่วนด้านซ้ายของกล้อง จะมีช่องต่อแฟลชแบบ “X” และ “M”
ส่วนด้านบนของกล้อง เริ่มจากฝั่งขวามือ ก็เป็นเหมือนกล้อง SLR สมัยนั้นทั่วๆไป มีก้านขึ้นชัตเตอร์ ซึ่งความรู้สึกเวลาขึ้นชัตเตอร์ ดูแน่นและเด้งกลับดีทีเดียว และให้ความรู้สึกว่าองศาในการขึ้นชัตเตอร์น้อย (แต่ยังหาข้อมูลจริงๆ ไม่ได้) ขึ้นได้รวดเร็ว ปุ่มชัตเตอร์ไม่ได้มีอะไรพิเศษมากนัก นอกจากใช้กดเพื่อเริ่มทำงาน Self-timer ได้ในตัว ไม่มีระบบล็อคชัตเตอร์ใดๆ ซึ่งตรงนี้ค่อนข้างน่าเสียดาย เพราะระบบอื่นๆ ออกมาดีหมด
สำหรับปุ่มถัดมาด้านขวามือ คือวงแหวนปรับความเร็วชัตเตอร์ ซึ่งปรับได้ตั้งแต่ 1 วินาที จนถึง 1/1000 วินาที รวมทั้งชัตเตอร์ B ปุ่มนี้นอกจากปรับความเร็วชัตเตอร์แล้ว ยังใช้ปรับตั้งค่า ISO อีกด้วย โดยยกขึ้นแล้วหมุน จะมีแสดงสเกลทั้ง ASA (ISO) และ DIN ส่วนนับฟิล์มเองก็อยู่ในตำแหน่งด้านบนขวามือเช่นกัน
สำหรับด้านบนซ้ายมือ จะเป็นที่กรอฟิล์มกลับ และยกขึ้นเพื่อเปิดฝาหลัง รวมทั้งมีวงแหวนสำหรับมาร์คว่าเราใช้ฟิล์มอะไรอยู่ โดยจะมีสำหรับฟิล์มขาวดำ B&W ฟิล์มสีแบบ Daylight (D) และ ทังสเตน (T) และไม่มีฟิล์ม (Empty)
ภาพด้านใน Chinon CS ใช้ระบบชัตเตอร์แบบ Mechanic ม่านชัตเตอร์เป็นโลหะ ชัตเตอร์วิ่งในแนวตั้ง
ส่วนด้านล่างของกล้อง ก็จะเป็นรูน็อตสำหรับขาตั้งกล้อง ปุ่มปลดล็อคเพื่อกรอฟิล์มกลับ และช่องใส่แบตเตอรี่ ซึ่งสำหรับ Chinon CS นั้น ใช้แบต PX625 1.35v สำหรับฝาปิดแบตฯ นั้น ผมว่าออกแบบมาดีทีเดียว โดยไม่ได้เป็นเกลียวเหมือนยี่ห้ออื่นๆ ที่ต้องหมุนๆ หลายรอบ แต่ทาง Chinon CS ออกแบบให้เป็นลักษณะเขี้ยว คือ หมุนแค่ 90 องศา ก็เปิด-ปิดได้แล้ว ผมว่าเป็นจุดเล็กๆ แต่สะดวกมากทีเดียว
ช่องมองภาพของ Chinon CS นั้นค่อนข้างใหญ่ และสว่าง มองเห็นชัดเจนดี ส่วนโฟกัสซิ่งสกรีน ยังเป็นแบบวงกลม ไม่มี Split Image ด้านในช่องมองภาพก็ยังมีเข็มวัดแสง มีสเกล + และ – คล้ายกล้องหลายๆ รุ่น แต่ที่พิเศษขึ้นมา หากเข็มวัดแสงมากเกินสเกลของกล้องจะรับได้ จะมีสัญลักษณ์สีแดงขึ้นมา (ตามรูป)
เทียบขนาดกับกล้องยอดนิยมบ้างครับ จะเห็นว่าใหญ่กว่า Olympus OM-1 พอสมควร แต่ขนาดพอๆ กับ Nikomat EL
สรุปนะครับ เป็นกล้องนอกกระแสตัวนึงที่น่าใช้ วัสดุดีแข็งแรง แต่ก็แลกกับน้ำหนักที่มากหน่อย ระบบต่างๆ ออกแบบมาค่อนข้างดี ใช้เม้าท์ M42 หาได้ไม่ยาก แต่ใช้แบต PX625 1.35v ซึ่งหาตรงรุ่นได้ยาก ซึ่งต้องใช้แบตเทียบอย่าง PX625 1.5v หรือ LR44 1.5v แทน
ตัวอย่างภาพจาก Chinon CS กับฟิล์ม Kodak ProImage 100